บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์, กรกฎาคม 26, 2552

ย้อนอดีต 6 เขื่อนน้ำงึม


เช้าวันที่ 7 กรกฎาคม คณะเราออกจาก ภูอ่างคำ โรงแรมที่พักในวังเวียง มุ่งหน้าสู่เขื่อนน้ำงึม ตามเส้นทางเดิม (เพราะมีเส้นทางเดียว) พอเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็จอดรถซื้อของฝากที่บ้านท่าเรือ ซึ่งเป็นตลาดขายปลาน้ำจืด ที่จับได้จากแอ่งน้ำรอบๆ เขื่อนน้ำงึม
เขื่อนน้ำงึมนี้ ตั้งอยู่ห่างจากนครเวียงจันทน์ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2515 มีลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ กักเก็บน้ำในลำน้ำงึมเอาไว้ เขื่อนแห่งนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณที่มากพอสำหรับใช้ในนครเวียงจันทน์ และยังมีเหลือพอส่งออกมาขายทางฝั่งไทย การสร้างเขื่อนน้ำงึมต้องเสียพื้นที่ป่าไปประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร ภายในเขื่อนน้ำงึมมีเกาะเล็กเกาะน้อยกระจัดกระจายอยู่หลายร้อยเกาะ เหมือนอ่างเก็บน้ำทั่วๆ ไป
คณะได้ลงเรือเพื่อรับประทานอาหารกลางวันบนเรือ กลางทะเลลาว มีสาวๆ หน้าตาจิ้มลิ้มคอยบริการ ทำให้ปีมะโรง ปีมะเส็ง งูเล็ก งูกลาง งูใหญ่ออกมาเลื้อยเพ่นพ่านเต็มไปหมด เรือลอยลำออกไปกลางทะเลสาบ ประมาณ 1 ชั่วโมงก็วนกลับมาพอดีกับการรับปะทานอาหารอิ่ม บรรยากาศที่นี่ดีมากเหมือนนั่งดื่มกินอยู่บนสวรรค์จริงๆ ครับ นอกจากนั้นทำคณะเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกบทเรียนหนึ่งว่า นอกจากมีโรงแรมม่านรูดแล้ว ยังมีเรือม่านรูดอีกด้วย (เขารูดม่านกันฝนสาดเข้ามา)เราจากที่นี่มาแบบประทับใจไม่รู้ลืม

ย้อนอดีต 5 วังเวียง


เมืองแห่งสายน้ำไหล ป่าไม้สีเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย จิตใจบริสุทธิ์ สโลแกนที่ชมรมผู้บริหารอำเภอกาบเชิง บรรจงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเมื่อได้มาสัมผัสความงามอันเป็นธรรมชาติของเมืองนี้ พอแค่ข้ามคืนเท่านั้นพลันก็มีเสียงสอดแทรกของบางท่านว่า ควรพิจารณาเปลี่ยนสโลแกนหรือคำขวัญใหม่ เป็น เมืองแห่งสายน้ำไหล ป่าไม้สีเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย ของใหญ่วังเวียง บรรดาเพื่อฝูงสมาชิกถึงกับร้อง อู้ เป่าปาก (แสดงว่าคนเสนอเปลี่ยนเจอของเข้าจังเบ้อเร่อ) คนลาวไม่นิยมพูดว่า ของ เพราะมันบ่ม่วน (ไม่สุภาพ) เช่น ไปซื้อของ อยากได้ของ อยากฆ่าของ ฯลฯ ไม่สุภาพทั้งสิ้น ต้องใช้คำว่า"เครื่อง" แทน ครับ เช่น ขึ้นเครื่อง ฯลฯ
ทัศนียภาพอันงดงามตระการตาของทิวเขาธรรมชาติ ไร่นาแบบขั้นบันได และหมู่บ้านชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ของลาว เช่น ลาวสูง ลาวเทิง ลาวม้ง ไทลื้อ ความยิ่งใหญ่ของขุนเขาที่เต็มไปด้วยป่านานาพันธุ์ที่ขึ้นตามธรรมชาติ สถานที่ท่องเทียวในเมืองนี้ ก็มีถ้ำจัง ถ้ำลม แต่ทั้งสองถ้ำนี้คณะเราไม่ได้เข้าเยี่ยมชม เพราะฝนที่ตกหนักตลอดทั้งวัน ทำให้มีน้ำป่าไหลแรง กลัวว่าเข้าไปแล้วจะออกไม่ได้ประมาณนั้น จึงกลับมานั่งชมวิวดื่มเขยลาว ริมแม่น้ำซอง ชมผาตั้ง ซึ่งเป็นภูเขาลูกเดียวที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว ด้านหน้าของภูเขามีน้ำซองไหลผ่าน ภูเขารูปร่างแปลกตา สลับซับซ้อนสวยงามยิ่ง คนที่เคยไปเที่ยวจีนบอกว่า วังเวียงคือ“กุ้ยหลินเมืองลาว”บ้างก็ว่า แม่ฮ่องสอน เมืองไทย แล้วแต่จะว่ากัน
ที่ตั้ง ตัวเมืองวังเวียง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซอง ห่างจากเมืองหลวงกรุงเวียงจันทน์ 154 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหลวงพระบาง 210 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง มองเห็นสายน้ำกว้างสลับเนินทราย โดยมีเทือกเขาหินปูนเป็นฉากหลัง อาชีพของพี่น้องลาวก็คือทำไร่ ทำนาเหมือนกัน ครับ ตามสภาพธรรมชาติ แต่สังเกตเห็นว่าเริ่มมีสวนยางพาราขึ้นบ้างแล้ว ยังยึดทฤษฎีการผลิตแบบพอกิน ถ้ามีเหลือกินก็เอามาแลกกันกิน ถ้าไม่มีกินก็ขอกันกิน การขอเรี่ยวขอแรงเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลในการผลิตยังมีอยู่มากในสังคมชนบทของลาว เหมือนกับเมืองไทยสมัย 20 ปีที่แล้ว

ย้อนอดีต 4 หอพระแก้ว




  1. หอพระแก้ว ตั้งอยู่บนถนน เชษฐาธิราช ติดกับทำเนียบประธานประเทศ แต่เดิมเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ของลาว พระเชษฐาธิราชมีพระราชประสงค์ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2108 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากล้านนา เมื่อต้องเสด็จกลับมาครองราชบัลลังก์ล้านช้างหลังจากที่พระราชบิดาคือพระเจ้าโพธิสารสิ้นพระชนม์ลงในการทำศึกสงครามกับประเทศสยาม เมื่อปีพ.ศ.2322 นครเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามตีแตก กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของนครเวียงจันทน์ไป พร้อมทั้งกวาดต้อนราชวงศ์ชาวลาวกลับไปยังกรุงเทพฯมากมาย สำหรับหอพระแก้วที่นักท่องเที่ยวเห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นของที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด ในปีพ.ศ.2480-2483 ภายใต้การควบคุมดูแลการก่อสร้างของ เจ้าสุวรรณภูมา ผู้ที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และต่อมายังได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับเอกราชอีกด้วย แม้หอพระแก้ปัจจุบันจะไม่ใช่วัดอีกต่อไป แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังนครเวียงจันทน์ก็ยังเดินทางมาสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก สำหรับส่วนในของพิพิธภัณฑ์นั้น จัดแสดง พระแท่นบัลลังก์ปิดทองจารึกพระไตรปิฏก ภาษาขอมและกลองสำริดประจำราชวงศ์ลาว สำหรับประตูใหญ่ทั้งสองเป็นของเก่าที่หลงเหลือมาแต่เดิม บานประตูจำหลักเป็นรูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บริเวณโดยรอบของหอพระแก้วเงียบสงบ ร่มเย็นมีไหขนาดกลางจากทุ่งไหหิน ในเชียงขวางวางตั้งอยู่ 1 ใบ อาณาบริเวณรอบๆ วัดสีสะเกดและหอพระแก้วเคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานปกครองของฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมมาก่อน ข้อสำคัญในการเข้าชมหอพระแก้วนี้อย่าพูดเรื่องพระแก้วมรกต เด็ดขาด ค่าเข้าชม คนละ 5,000 กีบ กี่บาทก็คิดเอาเองเด้อพี่น้อง
    หมายเหตุ กองทัพสยามคือกองทัพเสียมที่ยกพลบุกเขมรราบคาบมาแล้วในอดีต จนเพื่อนบ้านในละแวกนี้ไม่กล้าแหยม แต่ในสมัยปัจจุบันประเทศไทยได้ตกอยู่ในสภาพเมืองขึ้นของเขมร เห็นได้จาก
    1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำเงินค่ากระท่อม 3 หลังเนื่องจากทำลูกปืนลั่นใส่แล้วเกิดเพลิงไหม้ เขมรตีราคา หลังละ 50 ล้านบาท แต่ต่อรองราคาเหลือ ๗๕ ล้านบาท นำไปมอบให้แล้วครับเงียบๆ อย่างนอบน้อม
    2. เศียรเทวรูป จำนวน 7 เศียร ประมาณค่าไม่ได้ กรมศุลกากรจับไว้เป็น 10 ปี ไม่มีผู้มาแสดงตนเป็นเจ้าของขอรับคืน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำไปมอบให้เขมรฟรีๆ อย่างนอบน้อม

ย้อนอดีต 3 ประตูชัย


ประตูชัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเวียงจันทน์(ตามคำบอกเล่าของไกด์คนสวย ส่วนผู้เขียนจำทิศไม่ได้เพราะดวงหน้าเริ่มแดงก่ำ ความจำเลอะเลือนด้วยฤทธิ์ของ อัลโกฮอล 43 ดีกรี จากเมืองไทย)บนถนนล้านช้างไปสิ้นสุดที่บริเวณประตูชัย สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2512 เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงประชาชนชาวลาวผู้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนหน้าการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็คือสงครามปลดแอกจากฝรั่งเศส โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำ ประตูชัยแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รันเวย์แนวตั้ง เพราะการก่อสร้างประตูชัยแห่งนี้ ใช้ปูนที่อเมริกาซื้อเพื่อนำมาสร้างสนามบินใหม่ในนครเวียงจันทน์ในระหว่างสงครามอินโดจีน แต่ไม่ทันได้สร้างเพราะอเมริกาแพ้สงครามในอินโดจีนเสียก่อน จึงนำปูนซีเมนต์มาสร้างประตูชัยแทน ลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลของประตูชัยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น แต่ลักษณะสถาปัตยกรรมก็ยังมีเอกลักษณ์ของลาวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะลาว ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะ แบบปูนปั้นใต้ซุ้มประตูโค้งของประตูชัย บันไดวนให้ขึ้นไปชมทิวทัศน์ของนครเวียงจันทน์ บนยอดของประตูชัยอีกด้วย ตลอดบันไดวนของประตูชัยจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ ซึ่งแต่ละชั้นจะมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก ผมเดินขึ้นไปไม่ถึงหรอกครับ ไม่กี่ชั้นก็ลากขาไม่ไหวแล้ว หูเอื้อ ตาลาย ตามประสาคนเริ่มจะแก่ เรื่องราวเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานนามประตูชัยนี้มีลึกล้ำลี้ลับอีกมากมาย ครับ คงศึกษาเพิ่มเติมได้จากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นชมวิวทิวทัศน์ทุกวัน ค่าเข้าชม ผ่านประตูคนละ 2,000 กีบ กี่บาทก็คิดเอาเองเด้อ

ย้อนอดีต 2 พระธาตุหลวง


พระธาตุหลวง ซึ่งเป็นพระธาตุที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลาว ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช และได้ถูกทำลาย ใน ค.ศ. 1828 หลังจากภายใต้การปกครองของประเทศฝรั่งเศส นั้นชาวฝรั่งเศสได้สร้างให้เหมือนจริงโดยผสมผสานความเป็นสถาปัตยกรรม และศิลปแสดงถึงวัฒนธรรมของประเทศลาว

พระธาตุหลวง จึงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวลาว และมีนักเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ แวะมานมัสการทุกครั้งที่มาถึงเวียงจันทร์ บริเวณด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้สร้างนครเวียงจันทน์ประดิษฐานอยู่ ส่วนพระธาตุหลวง ลงทอง สีเหลืองอร่ามดุจ โดยเฉพาะยามเช้าและเย็น พระธาตุเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยในแต่ละปีจะมีงานประเพณีใหญ่ มนัสการพระธาตุหลวงในคืนเพ็ญเดือน 12 ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับชาติของลาวทีเดียว
พระธาตุหลวง หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งแห่งนครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวลาวทั่วประเทศ ตามตำนานกล่าวว่าพระธาตุหลวงมีประวัติการก่อสร้างนับพันปีเช่นเดียวกันพระธาตุพนมในประเทศไทย และปรากฏความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างแยกไม่ออก สถานที่นี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างของประเทศลาว ดังปรากฏว่าตราแผ่นดินของลาวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีรูปพระธาตุหลวงเป็นภาพประธานในดวงตรา
ตามตำนานอุรังคนิทานได้กล่าวไว้ว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นคราวเดียวกับการสร้างเมืองนครเวียงจันทน์ หลังจากก่อสร้างพระธาตุพนมแล้ว ผู้สร้างคือ บุรีจันอ้วยล้วย หรือ พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรก พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวเหน่า 27 พระองค์ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย โดยก่อเป็นอุโมงค์หินคร่อมไว้ อุโมงค์นั้นกว้างด้านละ 5 วา ผนังหนา 2 วา และสูงได้ 4 วา 3 ศอก เมื่อได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระเจ้าจันทบุรี จึงได้มีพระราชดำรัสให้เสนาอำมาตย์สร้างวิหารขึ้นในเมืองจันทบุรีหรือนครเวียงจันทน์ 5 หลัง เพื่อให้เป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระอรหันต์ทั้ง 5 องค์นั้นด้วย ตามตำนานดังกล่าวระบุศักราชการสร้างว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 238
ในระยะต่อมาแม้ว่าชื่อของเวียงจันทน์จะไม่ได้ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ใดเลย แต่อย่างไรก็ดี นครเวียงจันทน์ก็ยังคงเป็นเมืองสำคัญอยู่ตลอดมา ดังปรากฏการอ้างถึงชื่อเมืองเวียงจันทน์ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และในพงศาวดาวลาวฉบับต่างๆ ก็ระบุด้วยว่านับตั้งแต่พระเจ้าฟ้างุ้มเสวยราชสมบัติที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ก็ได้มีการส่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางสำคัญมาปกครองเมืองนี้โดยตลอด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2109 หลังจาก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรล้านช้าง ได้ทรงย้ายราชธานีเมืองเชียงทองหลวงพระบาง ลงมายังนครเวียงจันทน์ได้ 6 ปีแล้ว พระองค์จึงได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างองค์พระธาตุหลวงขึ้นมาใหม่ ในเขตพระราชอุทยานทางด้านทิศตะวันออกของกรุงเวียงจันทน์ โดยสร้างครอบพระธาตุองค์เก่าที่มีมาแต่โบราณกาล เมื่อสร้างพระธาตุหลวงเสร็จแล้ว จึงทรงขนานนามพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี” หรือ “พระธาตุใหญ่” (แต่คนส่วนมากมักเรียกว่า “พระธาตุหลวง”) และมีพระราชโองการให้อุทิศข้าพระธาตุจำนวน 35 ครอบครัว อยู่เฝ้ารักษาพระธาตุนี้ พร้อมทั้งที่ดินสำหรับให้ครอบครัวของข้าพระธาตุทำกิน
เอาเท่านี้แหละ

วันเสาร์, กรกฎาคม 25, 2552

ย้อนอดีต

บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวการเดินทางย้อนอดีตไปสู่สังคมชนบท นัยว่าย้อนไปสู่ยุคแห่งวัยที่ผู้เขียนแก้ผ้าโดดน้ำเล่น ในลำห้วย หนอง คลองบึง สัมผัสกับกลิ่นโคลน สาบควาย และวัฒนธรรมการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งหาได้ยากในใจกลางของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยแนวร่วมของชมรมผู้บริหารอำเภอกาบเชิง และการเดินทางเริ่มขึ้นที่ โรงเรียนกาบเชิงมิตรภาพที่ 190 จุดหมายปลายทางคือ เวียงจันทร์ และวังเวียง ราชอาณาจักรลาว ขบวนการเดินทางครั้งนี้เริ่มจากผู้ก่อการหลายๆ คน (ส่วนใหญ่ก็จากสมาชิกชมรมนั่นแหละรวมทั้งผมด้วย) โดยเวลาล้อหมุนที่จุดแรก 22.00 น. แต่บังเอิญว่ามีสมาชิกบางท่านเดินทางมาไม่ทันเลยบวกไปอีก +30 นาที ซึ่งสมาชิกที่ว่านี้ติดภารกิจเร่งด่วนทีบ้านปราสาทเบง เพราะ รอง ผอ.สพท.สร. 3 ลำดับที่ 11 มาเลี้ยงส่งที่นั่นเนื่องจากไม่สามารถร่วมเดินทางไปตามคำเชิญของชมรมฯ ได้ ก็เลยมาขอขอบคุณและเลี้ยงส่งประมาณนี้แหละ คนที่อยู่ร่วมงานเลี้ยงส่งก็มี ผอ.รร.บ้านแนงมุด เจ้าของสถานที่ ผอ.รร.บ้านบักจรัง และมนุษย์เหล็กอย่าง ผอ.รร.บ้านโคกกลางสามัคคี เป็นปฐมเหตุแห่ง +30 นาที
คณะเดินทางตามเส้นทางที่คิดว่าลัดที่สุด และสะดวกที่สุด ถึงจังหวัดหนองคายก็รุ่งสาง บนรถก็มีทั้งท่านที่พักผ่อนด้วยการนอน และการพักผ่อนรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอน ก็มี หลังจากอาบนำเปลี่ยนเครื่องแต่งกายบ้างนิดหน่อยก็เตรียมข้ามไปยังบ้านน้องของพี่ด้วยจิตใจที่ชื่นมื่น และแววตาแห่งความหวัง
หลายท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ในใจคงคิดว่าจะเจอใครสักคนในไม่ช้า อาจเป็นคนที่เคยรู้จักตั้งแต่ชาติปางก่อน อดีตคนรักเก่า อย่างนี้เป็นต้น ส่วนท่านใดที่มีผู้ติดตามก็ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่แพ้กัน แต่อนิจจาไม่อาจคิดเรื่องอื่นได้
เวลาประมาณ 08.30 น. คณะเดินทางถึงนครเวียงจันทร์ อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรลาว และเป็นเมืองหลวงแห่งที่สอง เมืองหลวงแห่งแรกถ้าจำไม่ผิดก็คือ หลวงพระบาง ซึ่งทุกวันได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกไปแล้ว สถานที่ที่เราเดินทางไปเยี่ยมชมแห่งแรก คือ วัดพระธาตุหลวง ที่มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ และเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสัการะของพี่น้องจากฝั่งไทยและลาว ในสถานที่แห่งเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ของพระชัยเชษฐา ซึ่งเป็นอดีตกษัตริย์ในสมัยยุคก่อตั้งลาว
ประตูชัย อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของการต่อสู้กับระบอบจักวรรดิ์นิยมฝรั่งเศษ สูงจนต้องเหลียวมองจนคอตั้งบ่า ณ ที่แห่งนี้เองเหมือนกับสนามหลวงของเมืองไทย มีผู้คนพลุกพล่านไปมา ส่วนใหญ่ก็พี่ไทยครับที่มากันเป็นคณะเล็กบ้าง คณะใหญ่บ้าง หรือมาแบบส่วนตัวบ้างเต็มไปหมด ผู้เขียนยืนสูดอากาศที่คิดว่าบริสุทธิ์เข้าไปจนเต็มปอดสองสามอึก ช่างสดชื่นอะไรปานนี้ กลิ่นสาบสาวลาวจะสดชื่นอย่างนี้ไหมหนอ (อ.สุชาติเจ้าของและผู้จัดการสุชาติทัวร์ ยืนอยู่ข้างๆ แอบกระซิบเบาๆ)