บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์, ตุลาคม 26, 2552

โรงเรียนบ้านบักจรังร่วมกิจกรรมวันปิยะมหาราช

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 คณะครูโรงเรียนบ้านบักจรัง ทุกท่านได้เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันปิยะมหาราช ซึ่งจัดขึ้นบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกาบเชิง เพื่อถวายพวงมาลารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5
วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือ พระพุทธเจ้าหลวง
ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร 5 ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

วันจันทร์, ตุลาคม 12, 2552

พิธีกวนข้าวทิพย์


ความสำคัญ
พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในหมู่ของชาวพุทธทั่วไป เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหตุการณ์ที่นางสุชาดาได้กวนข้าวทิพย์หรืือข้าวมธุปายาสในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ ๑ วัน โดยถือว่ามีผลานิสงฆ์มาก ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพร้อมใจกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เทิดทูนพระเกียรติคุณด้วยความกตัญญูกตเวทิตาธรรม
ข้าวทิพย์มธุปายาสนี้เชื่อกันว่า เมื่อทำครบถ้วนตามพิธีแล้ว จะเป็นสิริมงคลแด่ผู้ทำและผู้บริโภค สมควรจะเซ่นสรวงเทพารักษ์ ผู้ที่ได้บริโภคข้าวทิพย์แล้ว จะประสบโชคลาภต่างๆ นานา ปราศจากโรคาพยาธิ ภัยพิบัติ ประสบสิ่งที่เป็นมงคล
ส่วนประกอบ
วัตถุที่กวน ได้แก่ น้ำนมโคสด (ปัจจุบันใช้นมข้นหวานแทน) น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ชะเอมเทศ น้ำตาลกรวด น้ำตาลหม้อ ข้าวตอก ข้าวเม่า ธัญพืชต่าง ๆ ที่คั่วสุก ถั่ว งา ลูกเดือย เมล็ดแตง เผือกมัน เมล็ดบัว มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง เช่น มะม่วง กล้วย ทุเรียน ละมุด ลำไย ส้ม ขนุน เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมเท่าที่จะหาได้หรือปรับปรุงให้มีรสชาติ หอมหวาน อร่อย ตามความต้องการของผู้กวนในแต่ละท้องถิ่น บางท้องที่อาจใช้ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีมาเป็นส่วนผสมด้วย
ช่วงเวลา
ในชุมชนบ้านบักจรัง นิยมจัดร่วมกับงานประเพณีออกพรรษา กวนเสร็จแล้วก็เตรียมไว้ใส่บาตรเทโวโลหนะ และแจกจ่ายกันไปยังทุกครัวเรือน การกวนข้าวทิพย์ ถือเป็นวิถีชีวิตที่พุทธศาสนิกชนได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามมาแต่โบราณ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการปฏิบัติเป็นพุทธมามกะที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อว่า ผู้ใดได้ร่วมทำบุญงานประเพณีออกพรรษากวนข้าวทิพย์ จะบังเกิดความเป็นสิริมงคล มีความสมบูรณ์พูนสุข ทั้งต่อตนเองและครอบครัว แต่ลึกลงไปกว่านั้นสิ่งที่ได้คือความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เหมือนอย่างเช่นประเทศสารขัณฑ์ในปัจจุบันนี้