บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์, ธันวาคม 03, 2555

สีข้าวกับสีคน

ระบบ  (System)  หากให้คำจำกัดความเพื่อให้เข้าใจกันง่าย  มักจะหมายถึง ส่วนต่างๆ  จำนวนหนึ่ง  ซึ่งมีความสัมพันธ์และขึ้นอยู่ต่อกัน  เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เพื่อกระทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ  และมักอธิบายต่ไปว่า  ระบบมักจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ  คือ
   1. ปัจจัยนำเข้า
   2. กระบวนการ
   3. ผลลัพท์
   4. ผลสะท้อนกลับ
หากเปรียบเทียบระบบให้เข้าใจกันง่ายยิ่งขึ้น  ให้พิจารณาโรงสีข้าวครับ (ส่วนท่านใดจะเอาไปเปรียบเทียบกับอย่างอื่นก็แล้วแต่ชอบครับ) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตข้าวสารที่มีอยู่ทั่วไป  ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก  ระบบของโรงสี  จะเป็นอย่างนี้  คือ
   1. ปัจจัยนำเข้า  ได้แก่  ข้าวเปลือก (ทั้งข้าวจ้าว  ข้าวเหนียว)  ซึ่งโรงสีจะมีที่เทข้างเปลือกที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป  ข้าวเปลือกจะถูกร่อนโดยตะแกรงลวดเพื่อเอาเศษฝุ่น  ผง  ดิน  หิน  เศษฟางข้าว  ออกไปก่อน  นับว่าเป็นวิธีคัดเลือกวัตถุดิบให้มีคุณภาพก่อนป้อนเข้าสู่ตอนต่อไป  หลังจากผ่านการคัดเลือกโดยชาวนามาครั้งหนึ่งแล้ว
 
2. กระบวนการ  ข้าวเปลือกที่คัดเลือกแล้วจะถูกตักและลำเลียงโดยสายพาน  นำข้าวไปสู่ลูกหิน  ข้าวจะถูกลูกหินกระเทาะให้เปลือกหลุดโดยมียางขัดข้าวเป็นตัวรองรับการกระแทกและขัด  หากเป็นโรงสีที่มีสองลูกหินขึ้นไป  ลูกหินแรกจะเรียกว่าลูกหินข้าวดำ  เพราะขัดให้เปลือกข้าวหลุดออกมาก่อน  ขณะเดียวกันเปลือกข้าวจะถูกพัดลมเป่าออกไปทิ้งเป็นแกลบ    จากนั้นข้าวจะถูกลำเลียงไปลูกหินที่สอง  ซึ่งจะเรียกว่าลูกหินข้าวขาว  ข้าวจะถูกขัดมากขึ้นจนขาว  และจะมีรำเกิดขึ้นในช่วงการขัดนี้เอง รำจะถูกแยกไปส่วนหนึ่ง  ข้าวหักหรือปลายข้าวจะถูกแยกไปส่วนหนึ่ง  ข้าวที่ไม่ค่อยหักจะแยกไปส่วนหนึ่ง
   3. ผลลัพท์  ก็คือข้าวสารแน่นอนละครับ  เพราะคนที่เอาไปสีลำดับแรกต้องการข้าวสาร  ลำดับที่สองต้องการรำข้าวครับ  เอาไปเป็นอาหารสัตว์  หรือเอาไปใส่ปลาแดกก็ได้ (เห็นบ้านผมเขาทำ)  ข้าวสารจะออกมาสวย  หรือไม่สวยเม็ดหักมีเยอะนั้น  นอกจากจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ทันกาล  ฝนไม่ตกใส่ขณะที่ข้าวเปลือกผึ่งแดดแล้ว  ฝีมือในการปรับลูกหินของคนควบคุมกระบวนการสีเทคนิคการสีของแต่ละคนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง
   4. ผลสะท้อนกลับ  คือความพึงพอใจของคนที่เอาข้าวมาสี ซึ่งก็คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั่นเอง  หากผลที่ออกมาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นพึงพอใจ  ก็มักจะได้รับคำชื่นชมยกย่อง  เลื่องลือ  ไปตามกระแสลมปาก ว่าคุณภาพของโรงสีนี้  ดีนะ่  เม็ดข้าวออกมาสวย  ข้าวหักมีน้อย  ได้เยอะอีกต่างหาก  ไม่มีสะเก็ตหินเจือปน  ไม่มีกาก(ข้าวเปลือกที่กระเทาะไม่ออก)  ซาว(ล้างนำ้้ำ)ครั้งเดียวหุงได้เลย  ลูกค้าก็จะแห่แหนกันมาสีข้าวที่โรงสีนั้นมากเป็นพิเศษ  หากคุณภาพเป็นตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา  โรงสีนั้นก็จะได้รับ  การป้อย  การด่า จากสรรเสริญ  ก็จะเป็นการสาปแช่ง  ไม่เอาไปสีอีกแล้ว  มีลูกบอกลูก  มีหลานบอกหลาน  ญาติพี่น้องมีเท่าไรบอกให้หมดอย่าให้เอาข้าวไปสีโรงสีนี้อีกเด้อ (กรณีมีหลายโรงเลือกได้ถ้ามีโรงเดียวก็จำยอมเว้นแต่ว่าจะขยันตำข้าวซ้อมมือ)
     มองกระบวนการในโรงสีก็เหมือนกระบวนการในโรงเรียน  ต่างกันบ้างก็ตรงการคัดเลือกวัตถุดิบเราไม่สามารถเลือกได้เนื่องจากเป็นโรงเรียนรัฐที่จัดการศึกษาให้กับทุกคน (Education for All)  ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไรจัดสอนให้ทั้งหมด  ดังนั้นคุณภาพที่ออกมาจึงควรได้พิจารณาคุณภาพของวัตถุดิบด้วย  อย่ามองแต่คุณภาพของกระบวนการสี  คุณภาพ  เทคนิค  วิธีการของคนสีข้าว  เป็นสำคัญ

     ท้ายบทความฉบับนี้ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องเพื่อนครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใด้ด้วยครับ  ที่ได้รับความเดือนทั้งทางร่างกายและจิตใจ  จากความเหี้ยมโหดผิดจากมนุษย์ของบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองนี้  ขอประนามการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อเพื่อนครูอันเป็นที่รักของศิษย์  ขอให้เขาเหล่านั้นพบกับความวิบัติ  ตกนรกอเวจีโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น