บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์, เมษายน 09, 2555

เมื่อต้องเป็นผู้เชียวชาญ



การวิจัยเป็นกระบวนการสำคัญในการได้มาซึ่งความรู้  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น  นวัตกรรมต่างๆ  ที่มีคุณค่า  ช่วยให้สามารถแก้ปัญหา  ปรับปรุง  พัฒนาการปฏิบัติงานต่างๆ  ในสถานศึกษา   ทั้งทางด้านการจัดการเรียนรู้  การบริหารการศึกษา  เป็นต้น  ซึ่งได้มีผู้ทำการวิจัยในลักษณะต่างๆ  จำนวนไม่น้อย 
การจะทำวิจัยสักเรื่องหนึ่ง  ก็มิใช่จะว่าง่าย  ไม่ว่าการวิจัยนั้นจะทำกับกลุ่มประชากรขนาดเล็ก  เช่นการวิจัยในชั้นเรียน  หรือกระทำกับกลุ่มประชากรขาดใหญ่ในระดับจังหวัด  ระดับเขตพื้นที่  ระดับภาค  และระดับประเทศ  เป็นต้น  แต่ไม่เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ได้เรียนรู้ระเบียบวิธีวิจัย  สถิติสำหรับการวิจัย  หรือได้ผ่านการทำวิจัยมาบ้างพอสมควรแล้ว 
หากแต่สำหรับเพื่อนครูบ้านนอกของผมหลายท่าน  ถ้าพูดถึง  กล่าวถึง  หรือเพียงแค่คิดถึงงานวิจัย  ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องของการเข็นครกขึ้นภูเขาขึ้นมาทันที  แม้แต่ครูผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษในโรงเรียนที่ผมทำงานอยู่ก็เช่นกัน  ท่านก็ยังงงเป็นไก่ตาฟาง  คลำทางไม่ถูก  (เพราะงานวิจัยที่ท่านส่งเป็นผลงานทางวิชาการนั้นท่านอ่านเองแล้วไม่เข้าใจ  แม้จะอธิบายให้เพื่อนร่วมงานฟัง  ฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ...... อ้าว.....แล้วใครล่ะที่จะอ่านเข้าใจ...)

ในระยะสองปีที่ผ่านมา  มีเพื่อนครูสองสามท่าน  มาขอความนุเคราะห์แกมบังคับขู่ว่า  ขอให้ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเครื่องมือวิจัยให้ (กระผม, ดิฉัน ) หน่อยเถอะ  เพราะกำลังจะทำผลงานทางวิชาการเพื่อประกอบการส่งคำขอมี/ขอเลื่อนวิทยฐานะ  กับเขาบ้าง  ผมก็พยายามบ่ายเบี่ยงโดยอ้างว่ายังไม่มีความชำนาญถึงขั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญดอก  ท่านลองไปขอความอนุเคราะห์ผู้รู้ท่านอื่นก่อนเถอะ  เขาคงจะมีความชำนาญการหรือเหมาะเป็นผู้เชี่ยวชาญมากกว่าผมเป็นแน่... 
แต่.... อนิจจา  ตื้อเท่านั้นที่จะครองโลก....  ผมยอมใจอ่อนรับเป็นผู้  (ที่เขาคาดว่า ) เชี่ยวชาญให้กับครูสองสามท่านที่ว่านั้น  โดยมีข้อแม้ว่า  อาจช้าหน่อยน่ะ  เพราะขอศึกษาให้ดีๆ ก่อน
เครื่องมือในการวิจัยนับได้ว่ามีความสำคัญมาก  หรืออาจกล่าวได้เลยว่าเป็นหัวใจของการวิจัยเลยทีเดียว บุญชม  ศรีสะอาด (19 : 2552) ได้จำแนก  เครื่องมือในการวิจัยออกเป็น  2 ประเภท  คือ
          1. เครื่องมือในการดำเนินการวิจัย  ได้แก่  เทคนิคเดลฟาย (Delphi  Technique )  เทคนิค EFR  (Ethnographic Futures Research: EFR)  เทคนิค EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research: EFR)  และการสนทนากลุ่ม ( Focus Group)  เป็นต้น
          2. เครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลการวิจัย  ได้แก่  แบบสอบถาม (Questionnaire) การสังเกตการณ์ ( Observation)  การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นต้น
การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล
          ในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือนั้น  เป็นการดำเนินการก่อนที่จะนำเครื่องมือไปเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งการตรวจสอบสามารถกระทำได้  แนวทาง  ดังนี้  
          1. แนวทางที่อาศัยเหตุผล  หรืออาจเรียกว่า  การวิเคราะห์ทางกายภาพ  เป็นการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยอาศัยหลักการของเหตุผลก่อนที่จะนำเครื่องมือไปใช้จริง  โดยทั่วไปแล้วอาศัยหลักทฤษฎีหรือหลักเกณฑ์หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่จะวัดหรือศึกษา  ถ้าท่านผู้เชียวชาญมีความเห็นหรือตัดสินว่า  ถูกต้อง  เหมาะสม  หรือตรงตามทฤษฎี  ก็สามารถนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้  นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหาจะทำการตรวจสอบแล้ว  อาจมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคหรือวิธีการทดสอบหรือวัด  เพื่อพิจารณาว่าเครื่องมือนั้นเหมาะสมกับกลุ่มที่จะไปทดสอบ  หรือวัดหรือไม่  เช่น  ข้อคำถามชัดเจนหรือไม่  ภาที่ใช้รัดกุมเหมาะสมหรือไม่  คำสั่งชัดเจนหรือไม่  ความยาวของเครื่องมือเหมาะสมหรือไม่  รูปแบบของเครื่องมือเหมาะสมหรือไม่   ฯลฯ
          2. แนวทางที่อาศัยวิธีการทางสถิติ   เป็นการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยอาศัย  ค่าตัวเลขหรือค่าสถิติต่างๆ  วิธีการนี้ต้องนำเครื่องมือไปทดลองใช้  แล้วนำมาคำนวณค่าต่างๆ  เทียบกับเกณฑ์การยอมรับ  ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้  ก็นำไปเก็บรวบรวมข้อมูลได้แต่ถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์การยอมรับควรนำมาปรับปรุงและทดสอบ  ในบางเทคนิคอาจพิจารณาค่าสถิติจากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็ได้  เช่น  การพิจารณาค่าความสอดคล้อง  เป็นต้น  เครื่องมือที่ใช้ในการวัดความยาวของวัตถุ  ถ้าวัดความยาวชิ้นหนึ่งหลายๆ  ครั้ง  ได้ความยาวคงเดิมเสมอ  หรือไม่แตกต่าง  หรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง  โดยที่ความคลาดเคลื่อนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้  เช่น  ไม่เกินร้อยละ  5 ( 5%) ก็อาจสรุปได้ว่า  เครื่องมือนั้นมีความเหมาะสม  เป็นต้น
          เอาแค่เกริ่นนำไปก่อนนะครับ...  อย่าพึ่งเครียด
          คนเก่ง  มิได้แปลว่า  คนที่ไม่เคยล้ม  แต่คนเก่ง  หมายถึง  คนที่กล้าลุกขึ้นทุกครั้งที่ล้มลงต่างหาก (บูรชัย  ศิริมหาสาคร, 58:2552)
          ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อครูทุกท่านที่กำลังจะสู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  พัฒนาอาชีพ  พัฒนาชาติ  สู่การเป็นครูมืออาชีพอย่างแท้จริง.....ครับ....


 อ้างอิง
บุญชม  ศรีสะอาด  และสุริทอง  ศรีสะอาด, การวิจัยเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา,
กรุงเทพฯ, สุวีริยาสาส์น, 2552
บูรชัย  ศิริมหาสาคร, สุภาษิตสอนนาย : ศาสตร์และศิลป์แห่งการเป็นผู้นำ,
          กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์แสงดาว, 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น