บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์, ตุลาคม 02, 2553

การปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลว




กระแสปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา 10 ปี เป็นเพียงสายลมและแสงแดดที่ผ่านไปครบวัน และถึงเวลาพระอาทิตย์ตกสู่ความมืดมิดแห่งราตรีกาลอีกครั้ง และอีกนานเหลือเกินการปฏิรูปการศึกษาจะกลับมาอีกเพราะทุกคนจะคิดว่าได้ ปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว ทั้งที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย   การจุดประกายการปฏิรูปการศึกษารอบที่  2  (ทศวรรษที่  2) ระหว่าง  พ.ศ. 2552-2561) เป็นเพียงการเป่าขี้เถ้าออกจากดุ้นฟืนเท่านั้น  เพราะเป็นเพียงการกระตุ้นให้ไฟที่กำลังจะมอดดับเป็นเถ้าได้ลุกสว่างมาอีกครั้งแต่คงน้อยมาก  สุดท้ายก็จะเป็นเพียงสายลมแสงแดดดังเดิม 
การแยกตัวของเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นตัวชี้บ่งว่าการปฏิรูปการศึกษา 10  ปีที่ผ่านมาไม่มีอะไรดีขึ้น  ระบบโครงสร้างการบริหารจัดการมีปัญหา 10 ปีแห่งความหลัง 10 ปีที่ไม่ก้าวหน้า การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาจึงถือว่าล้มเหลว ซึ่งปัญหาสำคัญเป็นเพราะความไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนรัฐมนตรีแทบทุกปี บางคนอยู่แค่ 3 เดือน ซึ่งคงต้องโทษความเข้าใจเรื่องการศึกษาที่ยังมีไม่เพียงพอ  มีสิ่งที่เป็นดัชนีชี้บ่งว่า  การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่สำเร็จ  คือ **
ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผู้เรียน (จริงหรือไม่ข้อนี้ยังตอบให้ไม่ได้) การปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มต้นอย่างเข้มแข็งคึกคัก จุดประกายผู้คนให้ตระหนักในคุณค่าของการศึกษา อันจะทำให้ชาติเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระดับสากล กลับกลายเป็นเพียงเกมแย่งชิงอำนาจและปรับศูนย์อำนาจให้ลงตัว
1.นักเรียนก็ต้องเตรียมตัวเรียนพิเศษ ให้มากกว่าเรียนปกติ เพราะครูอาจารย์จะน้อยลงและรายได้ต่ำ จะสอนพิเศษเข้าใจมากกว่าสอนปกติ
2.นักเรียนจะต้องเตรียมแข่งขันในทุกระดับการศึกษา ต้องเอ็นทรานซ์ ต้องสอบเข้าอนุบาล ติวสอบ ป.1,ม.1 , ม.4
3.นักเรียนไม่ต้องสนใจว่าครูสอนอะไร เพราะไม่ออกสอบ นักเรียนต้องเน้นวิชาหลัก ๆ เช่น อังกฤษ คณิตศาสตร์ ไม่ต้องสนใจความเป็นมนุษย์มากนัก
4.นักเรียนต้องเตรียมตัวรับอารมย์ครูที่เป็นศูนย์กลางของห้อง เพราะห้องเรียนจะมีขนาดใหญ่ ครูจะไม่ค่อยสอน หรือดูแลไม่ได้ทั่วถึง ครูต้องตั้งแถวรับรัฐมนตรี หรือเอาใจผู้บริหาร ทำงานให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่มีเวลาดูแลนักเรียนเท่าไหร่นัก นักเรียนต้องดูแลตนเอง
ถ้าหากการปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ  จะมีลักษณะดังนี้**
1.นักเรียนจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพราะระบบการเรียนการสอนจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากการบริหารจัดการจะลงไปสู่ท้องถิ่น ที่เน้นการเรียนการสอนที่สัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
2.นักเรียนจะต้องแสดงศักยภาพในชั้นเรียนให้มากขึ้น การกวดวิชาจะน้อยลงเพราะ แนวคิดการเรียนรู้เพื่อจำและนำไปสอบเรียนต่อ จะลดลง เน้นการคิด การฝึก การแก้ปัญหา จะมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้นำกระบวนการคิด การเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น- นักเรียนจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมจะเป็นสื่อนำมากขึ้น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นในทุกที่และทุกเวลา เนื่องจากการเข้ามาของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจการศึกษาลงสู่ท้องถิ่น
3.นักเรียนจะคิดวิเคราะห์และหาความรู้ได้อย่างอิสระ หลักสูตรและการสอนจะยืดหยุ่นสอดคล้องกับท้องถิ่นและความต้องการอันแท้จริง ของชุมชน- นักเรียนจะเตรียมตัวให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพราะการศึกษาหลังการปฏิรูปจะเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถที่มี มาตรฐานสากล เน้นภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
**  ปรัชญนันท์ นิลสุข  http://board.dserver.org/t/thaiedu/00000001.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น