บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธ, กันยายน 14, 2554

อ่านไม่ออก 1

     อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น นับเป็นวลียอดฮิตที่ผู้อยู่ในวงการศึกษามักได้ยินได้ฟังและได้พูดกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งที่จริงแล้ววลีดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่า เป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จนกระทั่งถึงกาลปัจจุบัน ก็ยังทันสมัยนิยมใช้กันอยู่ และพูดกันไม่รู้เบื่อเหมือนเดิม แถมยังพูดบ่อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ตั้งแต่ครูน้อยไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เลยทีเดียว

ในทั่วทุกหัวระแหงของห้องโรงเรียน เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้เรียนตามแนวคิดขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็น 4 กลุ่ม หรือ 4 เหล่า คือ
      กลุ่ม/เหล่าที่ 1 อุคคฏิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้ และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
      กลุ่ม/เหล่าที่ 2 วิปจิตัญญู พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
      กลุ่ม/เหล่าที่ 3 เนยยะ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
      กลุ่ม/เหล่าที่ 4 ปทปรมะ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน (http://th.wikipedia.org : 13 กันยายน 2554)


      กลุ่ม/เหล่าที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงเรียนเตรียมทหาร หรือโรงเรียนรวมเหล่าแต่อย่างใด

      เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นครู เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา หรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กๆ ผู้ซึ่งรับผลกรรมของการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นผ่านกระบวนการบ่มเพาะให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นที่สูงขึ้นเป็นปีต่อปี ปัญหาก็ยังเป็นเหมือนเดิม

      ปัญหาอันหนักอกเช่นนี้ เราในฐานะครู ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารการศึกษา จะทำอย่างไรกับปัญหานี้ จะแก้ จะปล่อยเลยตามเลย หรือเฉยๆ รอการปลดระวางเกษียณตามอายุไข นี่เป็นคำถาม ให้คิดหาคำตอบ

      ศิวกานท์ ปทุมสูติ (2551 : 13) ได้วิเคราะห์เหตุแห่งปัญหาว่า เกิดจาก 4 ประเด็น ดังนี้

          1. ปัญหาจากตัวครู
          2. ปัญหาจากตัวเด็ก
          3. ปัญหาจากตัวผู้บริหาร และ
          4. ปัญหาจากตัวผู้บริหาร


1. ปัญหาจากตัวครู
      ปัญหาที่เกิดจากตัวครูถ้าจะพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเห็นว่ามีอยู่มากมายหลายประการทีเดียว อาจจะมีมากกว่าปัญหาที่มีอยู่ในตัวของพวกเด็กๆ เสียอีก ลองพิจารณาเหตุปัจจัยต่อไปนี้เถิดว่า เกิดจากครูผู้สอนคนใดบ้าง
          1) ครูให้เวลากับการฝึกทักษะการอ่านและการเขียนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นเพราะครูมีงานมาก มีเวลาเข้าห้องสอนน้อย หรือให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นๆ เกินความจำเป็น
          2) ครูสอนผิดวิถีแห่งการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติของภาษาไทย หรือผิดขั้นตอนกระบวนการ หรือถูกบ้างผิดบ้าง โดยรวมๆ แล้วทำให้การสอนไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่เกิดทักษะการอ่านการเขียนที่พึงประสงค์
          3) ครูขาดการวิเคราะห์ทบทวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเอง ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาเล็กๆ ค่อยๆ สะสมจนเป็นดินพอกหางหมู เกินกว่าจะแก้ไข
          4) ครูมีความอ่อนด้อยในตนเอง เช่น มีองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยไม่ดีพอ พูดและอ่านคำภาษาไทยไม่ชัด ไม่รักการอ่าน ไม่ใฝ่หาความรู้ ไม่มีศิลปะในการสอน ไม่มีความวิริยะอุตสาหะในการทำหน้าที่ ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง และ ไม่เอาจริงเอาจังในการสอน
          5) ครูไม่มีความสุขในการสอน ไม่มีแรงจูงใจให้กระตือรือร้นในการสร้างสรรค์และพัฒนาการเรียนการสอน ขาดขวัญกำลังใจ ขาดการส่งเสริมสนับสนุนที่ดีจากผู้บริหาร
          6) ครูมีปัญหาส่วนตัว ขาดสภาวะทางปัญญาในการทำหน้าที่ของครูที่ดี ขาดวุฒิภาวะในการแก้ปัญหา จนกระทั่งปัญหาส่วนตัวนั้นส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพในการสอนและการทำหน้าที่ของครูที่ดี

      เอาไว้เพียงเท่านี้ก่อนก็แล้วกัน ตอนต่อไป จะกล่าวถึง อีก 3 กรณีปัญหา โปรดคอยติดตามนะครับ

อ้างอิง
1. วิกิพีเดีย.2554.บัวสี่เหล่า (ออนไลน์) . http://th.wikipedia.org. 13 กันยายน 2554
2. ศิวกานท์ ปทุมสูติ. เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แก้ง่ายนิดเดียว. พิมพ์ครั้งที่ 8 .
ศูนย์การเรียนรู้ทุ่งสักอาศรม. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น